ปี 2553 ปีแห่งการเริ่มต้นของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะเน้นหนักในเรื่องการลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน เป็นงานหลัก และมีบริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นเพื่อลดความแน่นแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนปฏิบัติการงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของชุมชน ท้องถิ่น ที่อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ ประกาศเดินหน้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพในชุมชนโดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ของอาจารย์อมร นนทสุต และทีมงาน มาเป็นเครื่องมือบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างกลไกการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่กระทรวง กรมวิชาการต่างๆ มาเชื่อมกับระดับจังหวัด โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานไปยังอำเภอ ตำบล และท้องถิ่น โดยเฉพาะรพ.สต. เชื่อมโยงกับการใช้งบประมาณซึ่งมีแหล่งเงินทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นมีภาคีพันธมิตรสนับสนุนที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดีพร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันได้ ดำเนินการโดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิด ทำ และตรวจสอบเพื่อลดและแก้ปัญหาในพื้นที่ในปีนี้ อย่างน้อย 8 เรื่อง ได้แก่
1. โรคไข้เลือดออก
2. โรคเอดส์
3. โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
4. การดูแลความปลอดภัยอาหารบริโภคและโภชนาการในพื้นที่ เพื่อคุ้มครอบสุขภาพของผู้บริโภค
5. การจัดการปัญหาขยะในชุมชนไม่ให้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพ
6. งานอนามัยแม่และเด็ก
7. งานดูแลสุขภาพวัยเรียน/วัยรุ่น และ
8. การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
และในบางแห่งอาจเพิ่มเติมได้ตามสภาพปัญหาสาธารณสุขที่มีเฉพาะในพื้นที่
และตั้งเป้าพัฒนาให้มีโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชนที่มีความเป็นเลิศในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องใน 8 เรื่องที่กำหนด อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนต่าง ๆ นำไปประยุกต์ขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา : จากข่าวสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 27 พ.ค.2553