นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนด้านสาธารณสุขในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ
โดยเร่งให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งโรคติดเชื้อทั่วไป โรคภูมิแพ้ต่างๆ และโรคเรื้อรัง
ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
ซึ่งคนไทยป่วยและเสียชีวิตกันมากที่สุด และ 5 โรคนี้เป็นปัญหารุนแรงระดับโลก
ต้นเหตุสำคัญ มาจาก 3 เหตุได้แก่
1.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง
2.รับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ซึ่งเป็นอาหารที่ให้กากใย
ช่วยในการขับถ่าย ขับไขมัน คลอเลสเตอรอลออกจากร่างกายไม่เพียงพอ และ
3.การบริโภคสารทำลายสุขภาพ ได้แก่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผลการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชน อายุ 11 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศที่มี 57.7 ล้านคน
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่า มีผู้ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 26 หรือ 15 ล้านกว่าคน
ลดลงจากปี 2550 ที่มีเกือบร้อยละ 30 ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่คือ 42 ล้านคน กำลังใช้ชีวิตบนความเสี่ยง
ทั้งโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะไม่ออกกำลังกาย
ขณะเดียวกันจากรายงานผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2553
พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง ปีละกว่า 1 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ
โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี การรักษาพยาบาลประมาณปีละ 300,000 ล้านบาท
โดยมีรายงานว่ากลุ่มคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน และอ้วนลงพุงแล้วกว่า 17 ล้านคน
มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีก
หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนจะมีอายุสั้นลงไปเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน
ที่มา : http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/ ... _new=49667